Skip to content

8 วิธีสร้างสภาพแวดล้อมในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ปลอดภัย

ช่วง “ปฐมวัย” ถือเป็น “วัยทองของการเรียนรู้” ที่สมองของเด็กเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เด็กที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเหมาะสม จะมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้าม หากเด็กต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ พัฒนาการ และโอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพ  ดังนั้น สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด และเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยครูและผู้ดูแลควรศึกษาหลักการที่ถูกต้อง พร้อมพัฒนาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

แนวทางการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย

ผู้ดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน เหมาะสมกับการเรียนรู้และการเติบโตของเด็ก ๆ โดยพิจารณาจากหัวข้อต่อไปนี้

1. จัดสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ

การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ หมายถึง การดูแลและควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพและทางสังคมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก โดยมีแนวทางการจัดการครอบคลุมความปลอดภัย 5 ด้านหลักคือ 

  • การป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การสนับสนุนให้เด็กใช้หมวกนิรภัยเมื่อขี่จักรยานหรือจักรยานยนต์
  • การคัดเลือกและใช้ผลิตภัณฑ์อย่างปลอดภัย เช่น การเลือกของเล่นที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย การเก็บวัตถุมีคมหรือของชิ้นเล็กให้พ้นมือเด็ก
  • การป้องกันผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษจากอากาศ น้ำ ดินและสารพิษจากโรงงาน เช่น การตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มในสถานที่ดูแลเด็ก การคัดแยกขยะและกำจัดสารเคมีที่เป็นอันตรายอย่างถูกวิธี เพื่อรักษาความสะอาดและปลอดภัยของพื้นที่ 
  • การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างเหมาะสม โดยจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นและวางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติให้กับเด็กและเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน 
  • การป้องกันความรุนแรงและการละเมิดสิทธิเด็ก โดยการสอนให้เด็กมีความรู้ในการป้องกันตัวเองและขอความช่วยเหลือเมื่อประสบภัย พร้อมทั้งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียนและชุมชนอย่างเข้มงวด 

การจัดการด้านความปลอดภัยให้เกิดผลเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ผู้ดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรจัดทำนโยบายด้านความปลอดภัยเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายรับรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ควรมีการสำรวจและประเมินจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนตามความเสี่ยงที่พบ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างน้อยทุก 3 เดือน เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับเด็กทุกคน

2. จัดการให้โครงสร้างและตัวอาคารมั่นคง ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมปลอดภัย

สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีโครงสร้างและอาคารที่มั่นคง แข็งแรง ทนทาน และได้มาตรฐาน โดยตั้งอยู่ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมปลอดภัย หลีกเลี่ยงพื้นที่ใกล้แหล่งมลพิษทางอากาศ น้ำ หรือดิน เช่น บริเวณขนถ่ายก๊าซ น้ำมัน สารเคมี โรงงาน หรือกองขยะ พร้อมดูแลความสะอาดบริเวณรอบอาคารและจัดการทางเข้า-ออกอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ควรติดตามและประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3 เดือน พร้อมนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการด้านสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่เด็ก ครู ผู้ปกครอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

3. จัดการความปลอดภัยของพื้นที่เล่น/สนามเด็กเล่น และสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร

พื้นที่เล่น/สนามเด็กเล่น ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรเป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถเล่นอย่างสนุกสนานและเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งมีความปลอดภัยสูง สนามเด็กเล่นต้องมีเครื่องเล่นที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดความปลอดภัย และเหมาะสมกับวัยเด็ก พื้นสนามควรมีวัสดุที่ช่วยดูดซับแรงกระแทกเพื่อลดการบาดเจ็บ การติดตั้งต้องถูกต้อง มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีผู้ดูแลเด็กในขณะเล่นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกอาคารของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ บริเวณรอบนอกอาคารที่เด็กใช้เล่น เรียนรู้ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่กลางแจ้ง เช่น สนามเด็กเล่น ลานกิจกรรม ทางเดิน และบริเวณโดยรอบ ควรได้รับการจัดการความปลอดภัยบริเวณพื้นที่รอบนอกให้ปราศจากอันตรายจากรั้วหรือป้ายที่อาจล้มทับ ถนนหน้าสถานศึกษาต้องมีทางข้าม ทางเท้า และไม่มีสิ่งกีดขวางหรือไม่มีการจอดรถบนทางเท้า ยานพาหนะภายในบริเวณต้องขับด้วยความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยของเด็ก

ผู้ดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรประเมินความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบว่าความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ถูกแก้ไข หรือเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นใหม่หรือไม่ โดยนำผลการประเมินมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงพื้นที่เล่น สนามเด็กเล่น และสภาพแวดล้อมภายนอกอาคารให้ปลอดภัยอยู่เสมอ

4. จัดการสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ เครื่องใช้ให้ปลอดภัย เหมาะสมกับการใช้งาน และเพียงพอ

การจัดการสภาพแวดล้อมภายในอาคารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทำได้โดยกำหนดมาตรฐานและการดำเนินงานเพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การติดตั้งราวกันตกอย่างแข็งแรงเพื่อป้องกันการตกจากระเบียง บันได การเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่ไม่ลื่น โครงสร้างภายในอาคารต้องไม่มีขอบแหลมคมหรือพื้นผิวที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ อีกทั้งควรระมัดระวังสารพิษจากสีทาอาคาร น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ

นอกจากนั้น ครุภัณฑ์ในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และวัสดุถาวรที่ใช้ในการดูแล ส่งเสริม และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเล็ก เช่น เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก ของเล่นเพื่อการศึกษา อุปกรณ์กีฬา และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ควรมีอายุการใช้งานนาน มีความคงทนต่อการใช้งานประจำวัน และได้รับการตรวจสอบให้ปลอดภัย เหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งมีเพียงพอกับจำนวนเด็ก หลีกเลี่ยงการใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากการล้มทับ หากมีชั้นวางของหรือตู้ ควรมีการยึดติดกับผนังอย่างมั่นคงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

ผู้ดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรจัดให้มีการประเมินสภาพแวดล้อมภายในอาคาร จัดทำทะเบียนควบคุมตรวจสอบสม่ำเสมอให้ใช้งานได้ครบถ้วนไม่ชำรุด ติดตามประเมินการดำเนินการสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 3 เดือน วิเคราะห์ความรุนแรง และความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไขที่สามารถปฏิบัติได้ นำผลการประเมิน มาปรับปรุงและพัฒนา

5. จัดให้มีของเล่นที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน มีจำนวนเพียงพอ สะอาด เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของเด็ก

ของเล่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้านร่างกาย อารมณ์สังคม และสติปัญญา การเลือกของเล่นที่มีคุณภาพและดูแลของเล่นอย่างเหมาะสม ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย โดยมีแนวทางดังนี้

  • จัดหาของเล่นที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้มีจำนวนที่เพียงพอ และเหมาะกับพัฒนาการของเด็ก เช่น ของเล่นขนาดใหญ่สำหรับเด็กเล็กเพื่อป้องกันการกลืนกิน และของเล่นเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์สำหรับเด็กโต
  • ตรวจสอบ คัดแยกของเล่นที่ชำรุดออกทันที ทำความสะอาดของเล่นเพื่อป้องกันเชื้อโรคด้วยวิธีปลอดภัย โดยดำเนินการเป็นรายสัปดาห์หรือตามความเหมาะสมอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง  
  • จัดทำบันทึกข้อมูลของเล่น เช่น วันที่ซื้อ การตรวจสอบ การซ่อมแซม และการจำหน่าย เพื่อติดตามสภาพและวางแผนจัดหาใหม่อย่างเป็นระบบ
  • ประเมินและปรับปรุงการดูแลของเล่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุก 6 เดือน หรือปีละครั้ง ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หาของเล่นที่เสี่ยงสูง เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด และส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมดูแลของเล่นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความปลอดภัยตั้งแต่เล็ก

สำหรับแนวทางในการเลือกของเล่นให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย ผู้ดูแลและผู้ปกครองสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือ เช่น บทความเรื่อง “มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในของเล่นเด็ก” จาก วิทยานิพนธ์นิติศาตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบทความเรื่อง “เลือกของเล่นเด็กให้ปลอดภัยจากสารพิษ” จากเว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

6. ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยเดินทางอย่างปลอดภัย

การส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเด็กไม่ควรเดินทางลำพังและควรเดินทางร่วมกับผู้ใหญ่เสมอ เมื่อเดินทางทางน้ำควรสวมเสื้อชูชีพ การใช้รถจักรยานต้องมีมาตรการป้องกันเท้าติดซี่ล้อ เช่น มีที่บังขา ที่วางเท้า และมีที่ป้องกันเท้าเด็กเข้าซี่จักรยาน ส่วนเด็กที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย สำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ควรใช้ที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมกับวัย และรถรับส่งเด็กต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมขนส่งทางบก

ครูควรสำรวจรูปแบบการเดินทางของเด็ก วางแผนและพัฒนามาตรการเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ฝึกสอนเด็กให้มีวินัยและทักษะในการเดินทางอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมและโครงสร้างการเดินทางให้ปลอดภัย พร้อมสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ปกครองและชุมชนเพื่อร่วมมือสนับสนุนการเดินทางที่ปลอดภัยของเด็ก รวมถึงมีการประเมินผลและปรับปรุงมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและรักษาความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็กปฐมวัยทุกคน

การส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและปลูกฝังจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้เด็กตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ควรมีการประเมินผลและพัฒนามาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “สอนลูกให้เข้าใจ ทักษะจำเป็น การใช้ถนน การเดินทางอย่างปลอดภัย” จากเว็บไซต์สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก (สนภ.) กรมการขนส่งทางบก และบทความเรื่อง “เลือกคาร์ซีทอย่างไร?…ให้ปลอดภัย” จากเว็บไซต์สภาองค์กรของผู้บริโภค

7. จัดให้มีระบบป้องกันภัยจากบุคคลทั้งภายในและภายนอกสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย   

ภัยที่เกิดจากบุคคล เช่น การกระทำรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ การลักพาตัว เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันภัยจากบุคคลทั้งภายในและภายนอกอย่างเคร่งครัด เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็ก พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปกครองและสังคม โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้

  • การส่งเสริมความตระหนักรู้แก่บุคลากร จัดอบรมให้ความรู้แก่ครู ผู้ดูแลเด็ก และเจ้าหน้าที่ เกี่ยวกับการป้องกันภัย การสังเกตพฤติกรรมเสี่ยง และการระวังบุคคลแปลกหน้า พร้อมกำหนดการประชุมเพื่อติดตาม ทบทวน และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์น่าสงสัยอย่างสม่ำเสมอ
  • การป้องกันการล่อลวงเด็ก เสริมสร้างทักษะการป้องกันตนเองให้แก่เด็ก เช่น ไม่รับของจากคนแปลกหน้า และส่งเสียงขอความช่วยเหลือเมื่อถูกคุกคาม พร้อมกำหนดให้มีเพียงผู้ปกครองหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตและแสดงบัตรประจำตัวเท่านั้นที่สามารถมารับเด็กได้
  • การซักซ้อมสถานการณ์จำลอง จัดกิจกรรมซ้อมสถานการณ์การพบเจอคนแปลกหน้าหรือการล่อลวง เพื่อให้เด็กและบุคลากรคุ้นเคยกับการปฏิบัติที่ถูกต้อง และสามารถรับมือกับเหตุการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มาตรการควบคุมการเข้า-ออกพื้นที่ จัดให้มีการลงทะเบียนผู้มาติดต่อ พร้อมตรวจสอบบัตรประจำตัว และจำกัดพื้นที่การเข้าออก โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดเส้นทาง รวมถึงติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในบริเวณสำคัญ เพื่อป้องกันและตรวจสอบเหตุการณ์ต่าง ๆ
  • มาตรการเฝ้าระวังการกระทำรุนแรงทางร่างกายเด็ก จัดให้มีการเยี่ยมบ้านเด็ก และมีการสำรวจร่างกายเด็กทุกวันเมื่อมาถึงสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและก่อนกลับบ้าน เพื่อตรวจสอบร่องรอยที่อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น เช่น บาดแผลที่เป็นรูปเฉพาะซึ่งเกิดจากการทำร้ายร่างกาย โดยสามารถศึกษาวิธีวิเคราะห์ลักษณะของบาดแผลได้จากบทความเรื่อง “ร่องรอยบาดแผลที่ควรสงสัยว่าเด็กถูกทำร้าย” จากเว็บไซต์ของ One Stop Crisis Center (OSCC)
  • การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ติดตั้งป้ายเตือนในจุดที่มองเห็นได้ชัดเจน และจัดทำคู่มือสำหรับผู้ปกครอง เพื่อเผยแพร่มาตรการรักษาความปลอดภัย และแนวทางการมารับเด็กอย่างถูกต้อง

ผู้ดูแลสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรหมั่นตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงาน ทำบันทึก และวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขป้องกันภัย เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบอยู่เสมอ ส่วนบุคลากรทุกฝ่ายในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยก็ควรร่วมกันเฝ้าระวัง โดยหากพบเหตุการณ์ที่น่าสงสัย ต้องรายงานให้ครูเวรประจำวันทราบ หรือแจ้งหน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์ เช่น 191 ,1646 หรือสายด่วนสำหรับเด็กและครอบครัวที่ถูกกระทำความรุนแรง เพื่อส่งต่อเด็กในกรณีจำเป็น หากดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง อันจะเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของเยาวชนในอนาคต

8. จัดให้มีระบบรับเหตุฉุกเฉิน ป้องกันอัคคีภัยหรือภัยพิบัติตามความเสี่ยงของพื้นที่

สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีระบบรับมือเหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็กและบุคลากร ทั้งในกรณีอัคคีภัยและภัยพิบัติตามความเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ เช่น แผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้

  • การป้องกันอัคคีภัย จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง เช่น ถังดับเพลิง เครื่องตรวจจับควัน และสัญญาณเตือนภัยในจุดที่เหมาะสม กำหนดเส้นทางหนีไฟอย่างชัดเจน พร้อมติดป้ายสัญลักษณ์ที่สามารถมองเห็นได้ชัด จัดอบรม ซักซ้อมการอพยพหนีไฟแก่เด็กและบุคลากรอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหมั่นตรวจสอบ บำรุงรักษาอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการรับมืออัคคีภัยเพิ่มเติมได้จากเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือเรื่อง “อัคคีภัย ภัยใกล้ตัวป้องกันได้-ต้องใส่ใจไม่ประมาท” จัดทำโดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
  • การรับมือภัยพิบัติตามความเสี่ยงเฉพาะพื้นที่ แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน จึงต้องมีการวางแผนรับมือภัยพิบัติที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ควรจัดทำแผนอพยพไปยังที่สูง จัดเตรียมเส้นทางและพาหนะฉุกเฉิน ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ต้องหมั่นตรวจสอบโครงสร้างอาคารให้มั่นคง จัดทำแผนอพยพออกจากตัวอาคาร จัดอบรมวิธีการปฏิบัติที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่เสี่ยงพายุ ควรเตรียมอาคารที่แข็งแรงสำหรับหลบภัยและยึดสิ่งของที่อาจปลิวได้ ส่วนพื้นที่เสี่ยงไฟป่า ต้องกำหนดแนวป้องกันไฟ จัดเตรียมเส้นทางอพยพและอุปกรณ์ป้องกันควันไฟ เช่น หน้ากากอนามัย

สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยควรมีการทำบันทึก ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและเพียงพอ มีการฝึกอบรมและซ้อมอพยพเสมือนจริงอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความคุ้นเคยและเสริมทักษะการเอาตัวรอดให้แก่เด็กและบุคลากร รวมทั้งคอยหมั่นประเมินผลการซ้อมเพื่อปรับปรุงแผนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติต่างๆ ได้จากสื่อที่น่าเชื่อถือ เช่น หนังสือเรื่อง “น้ำท่วม ภัยธรรมชาติใกล้ตัว” จัดทำโดยศูนย์เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติแห่งเอเชีย (adpc) หนังสือเรื่อง “คู่มือการรับมือแผ่นดินไหว ฉบับย่อ” จัดทำโดยแผนกป้องกันภัยพิบัติสำนักงานควบคุมภยันอันตรายเขตเมกุโระ บทความ “สอนลูกให้รับมือกับพายุ: การป้องกันและเตรียมความพร้อม” โดย มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ บทความเรื่อง How to Prepare for a Wildfire” โดย มูลนิธิ Save the Children International

จากมาตรการทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ผู้ดูแลจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในทุกมิติ และให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งนับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมก้าวสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าและเป็นพลังสำคัญของสังคมในอนาคต

เอกสารอ้างอิง:

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. (ม.ป.พ.). อัคคีภัย ภัยใกล้ตัวป้องกันได้-ต้องใส่ใจไม่ประมาท. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://dpmreporter.disaster.go.th/dpm/assets/uploads/pdf/pbP29oT0Tj1549298298.pdf

คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2548). “ปฐมวัย” ช่วงทองของชีวิต. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://www3.rdi.ku.ac.th/exhibition/48/Project/index_16.htm

แผนกป้องกันภัยพิบัติสำนักงานควบคุมภยันอันตรายเขตเมกุโระ. (2550). คู่มือการรับมือแผ่นดินไหว ฉบับชีวิต. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://hss.moph.go.th/fileupload_doc_slider/2016-11-17–229.pdf

ทศนัย พิพัฒน์โชติธรรม. (2565). ร่องรอยบาดแผลที่ควรสงสัยว่าเด็กถูกทำร้าย. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://www.oscc.consulting/media/118

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย. (2568). สอนลูกให้รับมือกับพายุ: การป้องกันและเตรียมความพร้อม. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2568 จาก https://www.sosthailand.org/blogs/2025/how-to-teach-kids-storm-safety?srsltid=AfmBOopIEOqzVtUV-Yhfr_v6SNymTp3nTq5__6stjM9mhJy2597UweKr

วรวุฒิ เชยประเสริฐ. (2566). พ่อแม่ต้องอ่าน ! ปฐมวัย 5 ปีแรกคือปีทองของชีวิต. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://www.thaipbskids.com/contents/63f82ed95e4c622fd0e5bd9e

ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย. (ม.ป.พ.). น้ำท่วม ภัยธรรมชาติใกล้ตัว. กรุงเทพ: บริษัท ดูมาย เบส จำกัด. สืบค้นจาก https://www.adpc.net/V2007/IKM/ONLINE%20DOCUMENTS/downloads/flood_th.pdf

ศูนย์ข่าวผู้บริโภค.  (ม.ป.พ.). เลือกของเล่นเด็กให้ปลอดภัยจากสารพิษ. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://consumerthai.org/consumers-news/consumers-news/product-and-other/533-เลือกของเล่นเด็กยังไงให้ปลอดภัยจากสารพิษ.html

สภาองค์กรของผู้บริโภค. (2565). เลือกคาร์ซีทอย่างไร?…ให้ปลอดภัย. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://www.tcc.or.th/tcc_media/info-how-to-choose-carseat/

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2562). มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก http://www.onec.go.th/th.php/page/category/CAT0001189

สำนักสวัสดิภาพการขนส่งทางบก. (2565). สอนลูกให้เข้าใจ ทักษะจำเป็น การใช้ถนน การเดินทางอย่างปลอดภัย. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://safedrivedlt.com/สอนลูกข้ามถนน/

อิศรารัตน์อิศราภรณ.  (2560). มาตรการทางกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในของเล่นเด็ก. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2568 จาก https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2017/TU_2017_5701033077_8732_8415.pdf

Save the Children International. (n.d.). How to prepare for a wildfire. Retrieved June 19, 2025, from https://www.savethechildren.org/us/charity-stories/wildfire-tips

เรื่องที่คุณอาจสนใจ